ค้นหาบล็อกนี้

เหวย เหวย มาแล้วค๊าาา!! วันนี้คุนยิ้มกันรึยังน๊าา:)

วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

พัฒนาการวัย 3-6 ปี (วัยแห่งการเรียนรู้).....








ป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ๆ สำหรับเรื่องนี้ และ เป็นช่วงเวลาของลูกแม่พอดีเลย

ในช่วงอายุนี้อัตราการเจริญเติบโตของลูกคุณเริ่มลดลง คุณอาจประหลาดใจในสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษาพูด ความสามารถทางสติปัญญา การเข้าสังคมหรือเข้ากลุ่ม รวมทั้งพัฒนาการทางอารมณ์ล้วนแล้วแต่ สร้างความน่าประทับใจให้กับผู้เป็นพ่อและแม่ ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้ถือเป็นโอกาสของการเตรียมพร้อม เพื่อให้ลูกของคุณสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นความยุ่งวุ่นวาย ความท้าทาย เตรียมพร้อมเพื่อสถานการณ์ และความน่าตื่นเต้นก่อนที่จะเข้าสู่โลกของการเรียนรู้ในโรงเรียน 

1. พัฒนาการด้านร่างกาย

- ร่างกายเจริญเติบโตขึ้นอย่างช้าๆ 
- ร่างกายเริ่มสูงประมาณ 70% ของผู้ใหญ่ 
- ฟันกรามเริ่มขึ้น ฟันน้ำนมด้านหน้าเริ่มหลุด

1.1 การเคลื่อนไหวร่างกาย

- การประสานสัมพันธ์ของร่างกาย เริ่มมีพัฒนาการ โดยที่สามารถ 
เดินกลับไปกลับมาหรือในจังหวะสวิงได้ 
- ยืนและเดินทางตัวได้ สามารถควบคุมการทรงตัว ขณะเคลื่อนไหวได้ 
- ยืนเขย่งบนเท้าข้างเดียวได้ อย่างน้อย 10 วินาที 
ตีลังกาได้ 
- กระโดดข้ามเชือกสลับข้างไปมาโดยสลับขาได้

1.2 ทักษะการใช้นิ้วและมือ 

- สามารถลอกเลียนรูปทรงสามเหลี่ยมและรูปทรงเรขาคณิตได้ 
- วาดรูปร่างกายคนและหน้าตาได้สมบูรณ์ 
- ระบายสีได้โดยใช้แปรง 
- ชอบเล่นสิ่งของที่มีโครงสร้างซับซ้อนขึ้น 
- ใช้ช้อนและส้อมในการรับประทานอาหารได้ 
- แปรงฟันเอง 
- แต่งตัวเองได้ หรือต้องมีคนช่วยเพียงเล็กน้อย 
- ผูกเชือกรองเท้าเอง 
- รู้จักดูแลตัวเองได้เมื่อต้องการไปเข้าห้องน้ำ


1.3ภาษา/พัฒนาการ ทางด้านสติปัญญา ภาษา 

- สามารถเรียนรู้คำศัพท์ได้ถึง 1,500 ถึง 2,500 คำ 
- สามารถพูดเป็นประโยคที่มากกว่า 8 คำขึ้นไป 
- สามารถออกเสียงคำได้เกือบทั้งหมด 
- ใช้รูปแบบประโยคที่บอกอนาคตได้ 
- จำและเล่าเรื่องยาวๆ ได้ 
- ขานรับชื่อของตนเองได้เมื่อถูกเรียก 

2.พัฒนาการด้านสติปัญญา 

ความสามารถทางสติปัญญาในเด็กอายุ 4 ขวบ สามารถที่จะเริ่มเข้าใจพื้นฐานความคิดง่ายๆ ที่จะช่วยอธิบายไปสู่รายละเอียดย่อยๆ เมื่อเริ่มเข้าเรียน รวมทั้งเขาสามารถที่จะ 
นับ1-10 ได้ หรือมากกว่านั้น 

- บอกชื่อของสิ่งของต่างๆได้ถูกต้อง อย่างน้อยสีต่างๆ ราวๆ 4 สี 
- ระบุรูปทรงเรขาคณิตได้ 
- เข้าใจความสัมพันธ์ของขนาด เช่นใหญ่ เมื่อเทียบกับเล็ก 
- เข้าใจในแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องของเวลา (สามารถระบุได้ว่า ช่วงไหนเป็นเวลาใดของวัน หรือวันไหนคือวันอะไรในหนึ่งอาทิตย์) 
- รู้จักสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านต่างๆ เช่น เครื่องใช้ภายในบ้าน อุปกรณ์เครื่องไฟฟ้า อาหาร เงิน

3.พัฒนาการด้านบุคลิกภาพ


การเข้าสังคมและอารมณ์ลูกน้อยของคุณสามารถ 
- เล่นกับเด็กคนอื่นเพิ่มมากขึ้น 
- เชื่อมั่นในตนเองเพิ่มมากขึ้น 
- ช่างพูดและช่างซักช่างถามมากกว่าเดิม 
- ยอมรับกฎเกณฑ์ต่างๆมากขึ้นและบางครั้งก็สร้างกฎเกณฑ์เอง 
- ชอบเต้นและร้องรำทำเพลง 
- แสดงความเด็ดเดี่ยวออกมาให้คุณเห็น 
- พัฒนาการรับรู้ในเรื่องเพศ เริ่มมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเพศสภาพ 
- สารมารถแยกแยะออกได้ระหว่างเรื่องจริง กับเรื่องสมมติในจินตนาการ






วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

สถานที่ท่องเที่ยวที่เคยไปต่างจังหวัด 1 ที่

"เชียงคาน เมืองโบราณ ที่ไม่ล้าสมัย"


               สถานที่ท่องเที่ยวที่เคยไปต่างจังหวัด 1 ที่   คือ เมืองเชียงคาน จังหวัดเลย  ในปัจจุบันเป็นเมืองโบราณเก่าแก่ในสายตาของนักท่องเที่ยว เป็นชุมชนที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาได้ยาวนานกว่า 100 ปี เมืองเชียงคาน เมืองโบราณ.. บ้านไม้เก่าๆ ร้านกาแฟ มุมหนังสือเล็กๆ เท่านั้น แต่กลับมีนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว เดินเที่ยวกันให้เต็มไปหมด อาจจะด้วยเพราะเมืองเชียงคานนี้เงียบสงบ บรรยากาศดี ด้วยการที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์แต่ผสมผสานกับความเป็นสมัยใหม่ที่ไม่มากจนเกินไปได้อย่างลงตัวในแบบฉบับของเชียงคาน เมืองเชียงคานเป็นที่นิยมกันมากในหมู่วัยรุ่น เพราะนอกจากจะได้ท่องเที่ยวในสถานที่อันสวยงามแล้ว ยังได้ถ่ายรูปเก๋เก็บไว้อีกด้วย คุ้ม 2 ชั้น นอกจากนี้ ราคาของฝาก ยังไม่แพงมากเกินไป ทำให้มีผู้คนมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี







ที่อยู่ : เชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย 42110
หรือ : http://www.xn--42cfi6dyb2fra0g.com/

สถานที่ท่องเที่ยวที่เคยไปในจังหวัดบ้านเกิด 1 ที่

A Cup Of  Love    @ วังน้ำเขียว Korat


         สถานที่ท่องเที่ยวที่ดิฉันเคยไปในจังหวัดบ้านเกิด คือที่ a cup of love รีสอร์ทวังน้ำเขียว ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอปักธงชัยบ้านของดิฉันประมาณ 60 กิโลเมตร A Cup Of Love สถานที่แห่งความรักและความอบอุ่น ท่ามกลางอากาศที่บริสุทธิ์เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย และเป็นอันดับ 7 ของโลก จนได้ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สวิสเซอร์แลนด์แดนอีสาน ที่ a cup of love รีสอร์ทวังน้ำเขียว เรามีบ้านพักหลากหลายสไตล์ ที่ทุกๆท่านมาเห็นแล้วจะต้องถูกใจ กับความน่ารักอบอุ่น และเป็นกันเอง  ในบรรยากาศที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติโอบล้อมด้วยทิวเขาอันสวยงาม ที่เป็นสเน่ห์อย่างหนึ่งของวังน้ำเขียว ไม่ว่าจะมาพักกันเป็นคู่ ดื่มด่ำกับบรรยากาศ หรือมากันเป็นครอบครัวก็มีที่พักที่สามารถรองรับอีกด้วย และเป็นสถานที่เปิดใหม่ ที่ได้รับความนิยมมากในขณะนี้ และยังมีกาแฟหอมกรุ่นไว้คอยบริการลูกค้า บัตรเข้าชมฟาร์มเลี้ยงแกะ ก็ราคาเพียง 50 บาท มีมุมเก็บภาพสวยๆ มากมาย ด้วยความเป็นธรรมชาติของภูเขา สีเขียว ตัดกับสีแดง-ขาว ของสถานที่แห่งนี้ ทำให้ดูสวยเด่น สะดุดตา สำหรับผู้ที่มาเข้าชม และช่างถ่ายภาพ เป็นอีกสถานที่ที่น่าสนใจ และอยู่ไม่ไกลค่ะ






ร้านตั้งอยู่บนเส้น 3052 ห่างจากเขาใหญ่ 60กม. ห่างจากถนน ทางหลวง 304  7กม.
ติดต่อสอบถามเส้นทาง โทร. 084-388-1518, 084-388-1528, 081-752-3636

วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554


การจัดกิจกรรมศิลปะให้กับเด็กปฐมวัย

                การจัดกิจกรรมศิลปะให้กับเด็กปฐมวัยในแต่ละวัน นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กปฐมวัย นอกจากจะได้พัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเล็กและการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับสายตาแล้ว กิจกรรมศิลปะยังสอดคล้องกับแบบแผนการเรียนรู้ของสมอง หรือที่เรียกว่า  Brain Base Learning (BBL) อีกด้วย เด็กจะได้ฝึกปฏิบัติจริง มีประสบการณ์ตรง เรียนรู้ผ่านการสังเกตและฝึกกิจกรรมอย่างหลากหลาย เพื่อพัฒนาจุดเชื่อมต่อของใยประสาท ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย มีอิสระทางความคิด

     กิจกรรมศิลปะ เป็นกิจกรรมที่สามารถพัฒนากล้ามเนื้อเล็กได้เป็นอย่างดี และยังเชื่อมโยงพัฒนาการของอวัยวะหลายส่วน ทำให้เกิดจุดเชื่อมต่อของใยประสาทที่สามารถพัฒนาไปสู่แบบแผนการเรียนรู้ของสมอง  ในการจัดกิจกรรมศิลปะหรือกิจกรรมสร้างสรรค์  ครูควรจัดกิจกรรมให้เด็กมีประสบการณ์ตรงและฝึกปฏิบัติอย่างหลากหลาย  

     หากย้อนอดีต สะท้อนประสบการณ์เดิมด้านการเรียนการสอนศิลปะ คุณครูจะให้นักเรียนวาดภาพทิวทัศน์ในกระดาษวาดเขียน แนวคิดเดิม ๆ คือ ภาพทิวทัศน์จะมีดวงอาทิตย์อยู่ตรงกลางระหว่างภูเขา มีก้อนเมฆ มีต้นมะพร้าวหรือต้นไม้อื่น มีน้ำทะเล  มีเรือใบ  มีนกบิน  ฯลฯ  

     แต่ยุคปัจจุบันการสอนศิลปะเด็กปฐมวัย จะต้องจัดกิจกรรมให้เด็กอย่างหลากหลายรูปแบบ  เช่น
     - กิจกรรมวาดภาพระบายสี
     - กิจกรรมเล่นกับสีน้ำ  เช่น เป่าสี หยดสี พับสี ระบายสีด้วยนิ้วมือ ฝ่ามือ
     - กิจกรรมการพิมพ์ภาพด้วยส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและวัสดุต่าง ๆ
     - กิจกรรมการปั้น ขยำดินเหนียว ดินน้ำมัน แป้งโด กระดาษ ฯลฯ
     - กิจกรรมการพับ ฉีก ตัด ปะ
     - กิจกรรมการร้อย สาน และการออกแบบ
     - กิจกรรมการฝนสีด้วยกระดาษทราย
       ฯ ล ฯ

     ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ครูสามารถส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ที่เพิ่มจุดเชื่อมต่อของใยประสาท  โดยส่งเสริมให้เด็กสังเกตรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ พัฒนาการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับสายตา การพัฒนาระบบกายสัมผัสโดยให้เด็กมีโอกาสสัมผัสรับรู้วัสดุที่มีผิวสัมผัสต่างกันในระหว่างทำกิจกรรมสร้างสรรค์  เช่น ผ้ากระสอบ ผ้าสักหลาด กำมะหยี่ กระดาษทราย กระดาษที่มีผิวสัมผัสต่างกัน  ฯลฯ 

     ระหว่างทำกิจกรรมศิลปะ  ครูต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม  เช่น แสงสว่างพอเหมาะ มีเสียงดนตรีเบา ๆ บรรยากาศผ่อนคลาย  ทำให้เกิดการเชื่อมโยงสมองส่วนประสาทสัมผัสกับสมองส่วนที่คุมกล้ามเนื้อพร้อม ๆ กัน การเชื่อมโยงสมองซีกซ้ายเข้ากับซีกขวาที่เป็นด้านจินตนาการ  ดังนั้น งานศิลปะจึงไม่ควรเป็นการลอกเลียนแบบหรือต้องทำให้เหมือนจริง รวมทั้งไม่เน้นความถูกต้องของสัดส่วน  แต่ส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ สังคม และความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เด็กสนุกสนาน ซึมซับความงามของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว มีความมั่นใจ ภาคภูมิใจในผลงานของตน ควบคู่กับความสามารถถ่ายทอดการรับรู้ภายในด้านมิติ รูปทรง ขนาด ระยะ ฯลฯ ตามจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์เด็ก


ศิลปะกับเด็กปฐมวัย  

                เด็กในช่วงวัยนี้โครงสร้างสมองซีกขวาซึ่งเกี่ยวกับศิลปะ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ดีมาก ถ้าส่งเสริมอย่างถูกทิศถูกทางและทำให้เกิดพัฒนาการอย่างต่อ เนื่อง แต่เมื่อไหร่ที่เราไปขัดขวางพัฒนาการ บีบบังคับ สร้างความเป็นระบบแบบแผนมากเกินไป ล้วนแล้วแต่เป็นตัวขัดขวางจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก

            การศึกษาไทยยังไม่มีความเข้าใจในการพัฒนาเด็กให้มีความคิดสร้างสรรค์ จะเห็นว่าทุกวันนี้เรา พยายามสร้างกระบวนการคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กไทยมากขึ้น หากแต่บางครั้งก็ยังไม่มีความเข้าใจมากพอ เด็กแต่ละวัยมีความแตกต่างกันในการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างกระบวนการคิดสร้างสรรค์จึงต้องต่างกันไป

            เด็กในระดับชั้นปฐมวัย จึงจำต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ เราจะเน้นให้เด็กเกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน เมื่อเขาสนุกและเพลิดเพลิน แล้วจะทำให้เขาสามารถคิดอะไรได้แปลกใหม่อย่างมีอิสระ และเสรีภาพ คนที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กต้องเข้าใจ มิฉะนั้นจะไม่สามารถสร้าง สถานการณ์ของการเรียนการสอนได้ ในการพัฒนาเสรีภาพการเขียนการคิดได้อย่างแท้จริง

                วิชาศิลปะเป็นวิชาที่เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดจินตนาการได้เต็มที่ตาม ที่ได้เห็น เด็ก สามารถสร้างจินตนาการได้กว้างกว่าที่เราจะคาดเดาได้ บางที ก็อาจจะสะท้อนจิตใจความรู้สึกของ เด็กที่บางที่ไม่สามารถถ่ายทอดเป็นคำพูดได้แต่สามารถถ่ายทอดมาทางงานศิลปะได้ วิชา ศิลปะเป็น ฐานทางการศึกษาพัฒนาการเด็กซึ่งควรเริ่มตั้งแต่เด็กยังเล็กอยู่การ เรียนการสอนศิลปะสำหรับเด็ก ปฐมวัยนั้นจะมุ่งเน้นถึงพัฒนาการด้านต่างๆของ เด็กมากกว่าผลงาน ดังนั้นจะเห็นว่ากิจกรรมต่างๆ ทางศิลปะจะเป็นการฝึกกล้ามเนื้อมือให้แข็งแรง และสัมพันธ์กับการใช้ตา เช่นการปั้นแป้ง ดินน้ำมัน วาดรูป และระบายสี เด็กได้ใช้ส่วนต่างๆของนิ้วมือ แขน ไหล่ และส่วนอื่นๆของร่างกาย เป็นการ เตรียมความพร้อมในด้านการใช้กล้ามเนื้อใหญ่-เล็กเป็นอย่างดี ทำให้เด็กสามารถหยิบจับสิ่งต่างๆได้ อันจะนำไปสู่การเรียนของเด็กต่อไป
               
                ศิลปะกับความคิดสร้างสรรค์ นักจิตวิทยาทางการศึกษาทั่วโลกเชื่อกันว่าเด็กทุกคนมีความคิด ริเริ่มสร้างสรรค์ และสามารถพัฒนาให้เจริญงอกงามได้ตามระดับความสามารถของแต่ละบุคคล ถ้า หากเด็กนั้นๆได้รับการเสริมและสนับสนุนให้มีการแสดงออกภายใต้ บรรยากาศที่มีเสรีภาพ สำหรับ เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ในตัว สามารถพิจารณาจากพฤติกรรมได้หลายด้านดังนี้
            1.การเป็นผู้กระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา
            2.การเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆด้วยความคิดของตนเอง
            3.การเป็นผู้ชอบสำรวจตรวจสอบความคิดใหม่ ๆ
            4.การเป็นผู้เชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง
            5.การเป็นผู้สอบสวนสิ่งต่างๆ
            6.การเป็นผู้มีประสาทสัมผัสอันดีต่อความงาม

                จะเห็นได้ว่าการสร้างสรรค์ คือการ เจริญงอกงามทั้งด้านความคิด ร่างกาย และ พฤติกรรม และศิลปะคือ เครื่องมือที่ดีและเหมาะสมที่สุดในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เพราะ กระบวนการทางศิลปะไม่มีขอบเขตแห่งการสิ้นสุด สามารถสร้างความเพลิดเพลินให้แก่เด็กได้ตลอด เวลานอกจากนี้ยังช่วยให้เด็ก เกิดความคิดที่ต่อเนื่องอย่างไม่จบสิ้น และก้าวไปยังโลกแห่ง จินตนาการอย่างไม่มีขอบเขต


                การวาดรูประบายสี เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งซึ่งช่วยในการทำงานประสานกันระหว่างมือและตา เด็กจะ รู้จัก สี เส้น รูปทรง พื้นผิว ขนาดที่จะต้องพบในชีวิตประจำวันของเขา ภาพที่จะเห็นต่อไปนี้เป็นภาพ ที่วาดโดยเด็กปฐมวัยอายุ 3- 4 ขวบ เป็นภาพที่วาดตามความคิดและจินตนาการของเด็กเป็นอีก กิจกรรมหนึ่งซึ่งช่วยใน การทำงานประสานกันระหว่างมือและตา เด็กจะรู้จัก สี เส้น รูปทรง พื้นผิว ขนาดที่จะต้องพบในชีวิตประจำวันของเขา  

 

                การปั้น  การปั้นดินน้ำมันหรือ ดินเหนียว แป้งโด ฯลฯ มาปั้นเป็นรูปต่างๆตามจินตนาการของเด็กแต่ ละคนซึ่งจะแตกต่างกันไป เป็นการฝึกสมาธิ และพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆของเด็กเด็กจะได้เรียนรู้ รูปร่างต่างๆ
 

                การพับกระดาษ  เป็นกิจกรรมในการพัฒนาจิตใจและสร้างเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ทำให้เด็กเกิดความสนใจ และรู้สึกสนุกจึงทำซ้ำแล้วซ้ำอีก และเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างความเคลื่อนไหวของมือและการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างจากกระดาษที่พับ

 


                การฉีก-ปะกระดาษ    เป็นกิจกรรม ที่ช่วยส่งเสริม การใช้ทักษะมือ และนิ้วมือ ที่เราเรียกว่ากล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อส่วนนี้จะทำงานได้ดีต้องอาศัยการประสานสัมพันธ์ระหว่างตา กับมือด้วย   

 

                การพิมพ์ การพิมพ์ภาพเป็นการสร้างภาพหรือลวดลายที่เกิดจากการนำวัสดุหลายๆประเภท เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ ก้านกล้วย หรืออวัยวะของร่างกาย เช่น มือ เท้า มาใช้เป็นแม่พิมพ์กดทับลงบนสีแล้วนำไป พิมพ์บนกกระดาษหรือผ้าก็ได้  


                การเป่าสี คือการนำสีน้ำหรือสีโปสเตอร์ ผสมกับน้ำให้สีข้นพอสมควร โดยการหยดสีลงบนกระดาษ ใช้หลอดกาแฟจ่อปลายหลอดที่สี แล้วเป่าให้สีกระจาย จะได้ภาพสวยงามหลายหลากสี


                การประดิษฐ์เศษวัสดุ   เป็นการช่วยส่งเสริมให้เด็กเห็นคุณค่าการประยุกต์ให้เศษวัสดุใกล้ตัว ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เกิดความภาคภูมิใจต่อผลงานของตนเอง ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำ มีส่วนร่วมทั้งความคิด จิตใจ สมอง เกิดความประทับใจ เรียนรู้ด้วยความเข้าใจ จะทำให้เด็กค่อยๆ เกิดความคิด สร้างจินตนาการ นำไปสู่การคิดค้น การแก้ปัญหาและสร้างสรรค์งานใหม่ได้
 


สรุปแล้ว การเรียนศิลปะช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร

                ทำให้เด็กได้ฝึกการใช้จินตนาการอย่างอิสระ ซึ่งจะมีผลให้เด็กเป็นคนกล้าคิด กล้าริเริ่มสิ่ง ใหม่ๆทำให้เด็กได้แสดงออกถึงสิ่งที่ตนคิดและรู้สึกโดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถสื่อสารทางตัว อักษรได้ดีทำ ให้เด็กรักการทำงานและมีความภาคภูมิใจในตนเอง เมื่อการสร้างสรรค์งานศิลปะของ เด็กแต่ละชิ้นเสร็จสิ้นลง เด็กจะรู้สึกภาคภูมิใจกับผลงานของเขามาก ทำให้กระตือรือร้นที่จะสร้างผล งานชิ้นใหม่ต่อไปช่วย ฝึกความประณีตและสมาธิเพราะในขณะที่เด็กพยายามควบคุมมือให้สามารถวาด ระบายสีหรือประดิษฐ์สิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จนั้นต้องใช้ความตั้งใจ ความพยายามและใช้สมาธิที่แน่วแน่ มั่นคงตามวุฒิภาวะของเด็กแต่ละวัย ทำ ให้เด็กเป็นคนมีสุนทรียภาพ มีความละเอียดอ่อนในจิตใจ ทำ ให้รู้คุณค่าในธรรมชาติ ศิลปะ วัตถุ หรือรูปแบบความคิดต่างๆ ทำให้มีชีวิตและจิตใจที่งดงาม ฝึก ให้ เด็กรู้จักการทำงานร่วมกัน รู้จักปรับตัวและปรับความคิดให้สอดคล้อง ยอมรับซึ่งกันและกัน อันเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคีและเป็นประชาธิปไตยในสังคม





ข้อมูลอ้างอิง

ชุดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสมองของเด็กปฐมวัย

แหล่งข้อมูลหนังสือแนวการจัดกิจกรรมและสื่อการเรียนการสอนระดับก่อนประถมศึกษาhttp://www.clinicdek.com/index.php?option=com_content&task=view&id=414&Itemid=61


   ภาพประกอบผลงานของนักเรียนระดับปฐมวัย

วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การคิดและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย


การคิดและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย

ผู้แต่ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี ไสยวรรณ
การคิดเป็นกระบวนการทำงานของสมองที่มีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งมาจากการฝึกฝน เช่นเดียวกับการป้อนข้อมูลต่าง ๆ เข้าไปในสมองเพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลได้มากขึ้น แต่การฝึกสมองให้สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดไม่ใช่เรื่องของการจำอย่างเดียว เพราะถึงแม้การจำจะเป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นสิ่งสำคัญและมีประโยชน์ แต่ก็เป็นเพียงขั้นพื้นฐานของสมองที่จะต้องมีการจำความรู้เพื่อนำไปใช้ในขั้นตอนต่อไป บางครั้งการจำไม่ได้ทำให้เกิดการเรียนรู้ แต่อาจไปสกัดกั้นการทำความเข้าใจเนื้อหาของความรู้ ความจริงแล้วการฝึกให้สมองสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นเรื่องของการคิด เพราะถ้าหากสมองคิดเป็นก็เรียกได้ว่าคน ๆ นั้นเป็นคนที่มีศักยภาพมีประสิทธิภาพ การคิดเป็นการทำงานของสมองที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพียงแต่ว่าเราจะต้องจัดการเรียนรู้หรือจัดสิ่งกระตุ้นให้มากพอที่สมองจะได้ฝึกคิด การคิดสามารถพัฒนาและฝึกฝนได้
รูปแบบการเรียนรู้ปัจจุบันจำเป็นต้องสร้างให้ผู้เรียนเป็นฝ่ายรุกนั้นคือกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ ใฝ่รู้ รู้จักคิดตั้งคำถามและคิดค้นหาคำตอบ ให้โอกาสผู้เรียนได้แสดงความคิด วิเคราะห์และหาข้อสรุป และเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ผู้เรียนฝึกฝนการคิดคือมีทักษะการคิด ลักษณะการเรียนรู้ดังกล่าวเป็นผลมาจากนักการศึกษาในปัจจุบันได้นำเอาความรู้ในเรื่องการคิดและการเรียนรู้ทางจิตวิทยาและทางชีววิทยามาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการคิดของเด็กในชั้นเรียนเพื่อเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญที่ใช้ในการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนต่อไป
เด็กอายุ 8 ปีแรกของชีวิตเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการทางการคิดและการเรียนรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัวของเขา เรารู้ข้อมูลเหล่านี้จากนักจิตวิทยาโดยเฉพาะนักจิตวิทยาการเรียนรู้ ระหว่างศตวรรษที่ 20 คำถามสำคัญคือ การคิดของเด็กเล็ก ๆ แตกต่างจากผู้ใหญ่หรือไม่ หรือมันเป็นการขาดประสบการณ์ของเด็กหรือไม่ สำหรับประเด็นที่ว่า เด็กเรียนรู้อย่างไร ได้ศึกษาโดยนักการศึกษา นักปรัชญา นักจิตวิทยา เช่น พาฟลอฟ ทอนไดค์ สกินเนอร์ ให้ความสำคัญในอิทธิพลของแนวทางที่เน้นการสอน (เด็กถูกสอน) ประมาณ ค.ศ. 1950-1959 นักจิตวิทยาและนักการศึกษาให้ความสำคัญมากในการเรียนอย่างเข้มข้น ต้องการการเสริมแรง และเชื่อว่าหลักการเรียนรู้อยู่บนพื้นฐานการกระตุ้นและการตอบสนอง
พิอาเจท์และอินเฮลเดอร์ (Piaget and Inhelder. 1969 : 58) อธิบายว่า การคิดหมายถึง การกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยปัญญา การคิดของเด็กเป็นกระบวนการใน 2ลักษณะคือ เป็นกระบวนการปรับโครงสร้างโดยการจัดสิ่งเร้าหรือข้อความที่ได้รับจริงให้เข้ากับประสบการณ์เดิมที่มีอยู่กับกระบวนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างโดยการปรับความจริงที่รับรู้ใหม่ให้เข้ากับประสบการณ์เดิม เด็กใช้การคิดทั้งสองลักษณะนี้ร่วมกันหรือสลับกันเพื่อปรับความคิดของตนให้เข้าใจสิ่งเร้ามากที่สุด ผลของการปรับเปลี่ยนการคิดดังกล่าวช่วยพัฒนาวิธีการคิดของเด็กจากระดับหนึ่งไปสู่การคิดอีกระดับหนึ่งที่สูงกว่า ไอแซคส์ (Isaacs)ช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติของการเรียนรู้ของเด็กจากการศึกษาของเขาโดยการสังเกตและจดบันทึก โดแนลด์สัน (David.1999: 2-3 ;citing Donaldson.nd) อธิบายว่า ปัญหาการสื่อสารระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ เป็นสาเหตุให้เด็กเกิดความล้มเหลวในการเรียนรู้ได้ ดังนั้นผู้ใหญ่จะต้องพยายามคิดว่าทำอย่างไรจะบรรลุความสำเร็จที่จะเข้าใจความคิดและภาษาของเด็ก และอธิบายเพิ่มเติมว่า การจัดประสบการณ์ให้กับเด็กทำให้เด็กเกิดความเข้าใจเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่การคิดเป็นนามธรรมต่อไป เด็กจะไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ถ้าเขาไม่ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติด้วยตนเอง
ภาษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้และความเข้าใจ บรูเนอร์ (Bruner. 1993) และไวกอตสกี้ (Vygotsky. 1978) ให้ความสำคัญเรื่อง ภาษา การสื่อสาร และการสอนเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทางสติปัญญา และพัฒนาการส่วนบุคคล การแสดงออกของผู้ใหญ่ในฐานะผู้ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ (Scaffolding)จะทำให้เด็กเข้าใจโลกรอบตัวของเขา เด็กบางคนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หรือไม่สามารถจำประสบการณ์ของตนได้ ถ้าผู้ใหญ่ให้ความช่วยเหลือ หรือแนะนำอาจทำให้เขาประสบความสำเร็จได้ด้วยตนเอง
บรูเนอร์ (Bruner) พัฒนาแนวคิดของ เนลสัน (Nelson) เกี่ยวกับความคิดเรื่อง ผู้ใหญ่ในฐานะที่เป็นผู้ช่วยเหลือ หรือให้คำแนะนำ (Scaffolding) การเรียนรู้ของเด็กและไวกอตสกี้ (Vygotsky) ค้นพบเรื่อง “Zone of Proximal Development” เพื่ออธิบายช่องว่างระหว่างสิ่งที่เด็กสามารถทำได้ด้วยตนเองและสิ่งที่เด็กสามารถประสบความสำเร็จด้วยการช่วยเหลือของคนอื่นส่งผลให้เด็กมีระดับการคิดเพิ่มขึ้น ระดับการคิดที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากการใช้ภาษาและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ผู้ใหญ่ถ่ายทอดความรู้และคุณค่าทางวัฒนธรรม ไวกอตสกี้อธิบายว่าความสำเร็จจากความร่วมมือคือพื้นฐานการเรียนการสอนโดยบุคคลที่มีความรู้มากกว่าเป็นตัวเสริมให้ระดับการคิดของเด็กเพิ่มขึ้น นอกจากนี้มันเป็นการค้นพบว่า เมื่อเด็กทำงานร่วมกับผู้อื่นในกิจกรรมการคิดแก้ปัญหาทำให้เด็กประสบความสำเร็จถึงวิธีการแก้ไขได้ดีกว่าที่เขาพยายามแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง การเรียนรู้แบบร่วมมือมักเกิดขึ้นในหลาย ๆ สถานการณ์การเล่น โดยการที่เด็กเล่นไปด้วยกันและทดลองแนวคิดใหม่พร้อมกับใช้ทักษะการคิดหลายด้าน เด็กสามารถเข้าใจสิ่งที่เรียนรู้ด้วยการใช้ทักษะการคิดหลาย ๆ ด้าน บรูเนอร์อธิบายว่า มันเป็นสถานการณ์การเล่นที่เด็กเล็กสามารถทดสอบความคิดของตนเองและความรู้ที่มีอยู่โดยเป็นอิสระจากผู้ใหญ่ แม้ว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ แต่ยังมีองค์ประกอบหนึ่งที่ส่งผลการเรียนรู้คือ แรงจูงใจ กิจกรรมต่าง ๆ ที่มาจากความสนใจของเด็กและแรงจูงใจภายใน จะนำไปสู่ความสำเร็จแห่งการเรียนรู้ (David. 1999 : 4-5) บทบาทของผู้ใหญ่หรือคนที่มีความรู้มากกว่าในฐานะผู้ช่วยเหลือและให้คำแนะนำส่งผลให้เด็กมีระดับการคิดสูงขึ้น
สรุปได้ว่าการคิดและการเรียนรู้ตามแนวคิดทางจิตวิทยามีการปรับเปลี่ยนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมมาโดยตลอด แนวคิดทางจิตวิทยาที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาในปัจจุบัน คือ แนวคิดของพิอาเจท์ (Piaget) บรูเนอร์ (Brunner) และไวกอตสกี้ (Vygotsky) รูปแบบการเรียนการสอนจึงเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางโดยครูสามารถจัดกิจกรรมให้เด็กได้สืบค้นและทดลอง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือกระทำด้วยการคิด ผู้เรียนมีโอกาสได้แสดงออกในการคิดใช้ทักษะการคิด เรียนรู้แบบร่วมมือ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ค้นพบด้วยตนเอง บทบาทครูในฐานะผู้ช่วยเหลือให้คำแนะนำ ครูควรใช้คำถามที่มีความหมายให้คำอธิบาย พูดคุยกับเด็กอย่างสม่ำเสมอ ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพของแต่ละบุคคล

บรรณานุกรม

  • ศันสนีย์ ฉัตรคุปต์;และอุษา ชูชาติ.(2545).ฝึกสมองให้คิดอย่างมีวิจารณญาณ. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช.
  • อัญชลี ไสยวรรณ. (2548) การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนทักษะการคิดแสวงหาความรู้สำหรับ เด็กปฐมวัย. ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต.(การศึกษาปฐมวัย). กรุงเทพฯ:บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. อัดสำเนา.
  • David, Tricia.(1999). Young Children Learning. London : Paul Chapman .
  • How Children Learn.(2003).(Online) Available: http://www.Ascd.org/publication/ed_lead/199703/abstracts.htm.Retrieved. April 5, 2003


  • แหล่งอ้างอิง
    http://www.e-child-edu.com/youthcenter/content/articles/thinking-learning-of-child.html

    วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

    เริ่มทำค่ะ^^

    ยินดีต้อนรับทุกคนที่มาเยี่ยมชม บล๊อกน้องเหวย เหวยค๊า